|
หน้ารวม Review |
ข่าว-ประชาสัมพันธ์ |
ตากล้องต้องอ่าน |
แชร์ว่อนเน็ต |
รีวิวกล้อง :
Olympus OM-D E-M1
กล้อง Mirrorless ระดับโปร ที่ขอท้าชิงบัลลังก์กล้อง DSLR
(พร้อมตัวอย่างภาพ ของจริง ที่ถ่ายจากกล้อง)
คุณสมบัติเด่น
ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล และ Live MOS Sensor ระบบ Micro Four Thirds
ระบบประมวลผล TruePic VII ที่มาพร้อมกับ Fine Detail Technology II
ระบบกันสั่น 5 ทิศทาง ในตัวกล้อง ทำให้ภาพที่คมชัด แม้การถ่ายภาพ ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหว
ช่องมองภาพอิเลคทรอนิคส์ (EVF viewfinder) ขนาดใหญ่ ความละเอียดสูง 2.36 ล้านจุด สามารถปรับความมืด สว่างได้ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยล่าสุด
จอภาพ LED ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียดสูง 1.04 ล้านจุด แบบปรับองศาการถ่ายได้
ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ 1/8000 วินาที
ออโต้โฟกัสความเร็วสูงพิเศษ Dual FAST AF : การทำงานร่วมกันระหว่าง contrastdetection AF และ phasedetection AF
ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุดที่ 10 fps. (ปิดระบบ IS)
โครงสร้างกันฝุ่น และละอองน้ำ
ถ่ายภาพเคลื่อนไหวระดับ Full HD
มีระบบ WiFi ในตัวกล้อง สามารถต่อเชื่อมกับ SmartPhone ได้ง่ายๆ
รายละเอียดข้อมูลกล้องเพิ่มเติม ดูได้จากเว็บผู้ผลิต
http://cameras.olympus.com/th-th/omd
ระบบกันสั่นแบบ 5 ทิศทาง ที่ทำให้ได้ภาพนิ่ง แม้กำลังเคลื่อนที่อยู่ ในขณะถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพวิดีโอ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง ที่ถ่ายขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปบนบันไดเลื่อน ก็ยังได้รายละเอียดของสิ่งต่างๆที่ชัดเจน
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 1250 : 1/60 sec. F 4
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/200 sec. F 22
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/160 sec. F 11
ช่องมองภาพแบบ EVF ที่ให้รายละเอียดมากพอ หัวใจสำคัญ ที่จะได้ภาพที่สมจริง และประสบความสำเร็จ สำหรับช่องมองภาพแบบนี้ ที่จะใช้งานแทน ช่องมองภาพปกติได้จริง ซึ่ง OM-D จัดมาให้เต็มๆถึง 1.44 จุด ทำให้ได้ภาพที่สมจริงมากในช่องมองภาพ EVF
หลังจากที่ประสบความสำเร็จไปอย่างงดงาม กับกล้อง Retro สไตล์ย้อนยุค กลับไปหากล้อง Olympus ฟิล์มรุ่นเก่าๆ อย่าง กล้อง OM ภายใต้ชื่อ OM-D ที่ออกมาวาดลวดลาย อวดสายตาชาวตากล้อง กับมารุ่นแรก ในชื่อรุ่นเต็มๆว่า OM-D E-M5 ที่เป็น concept กล้องที่สร้างชื่อให้กับ Olympus อยู่ไม่น้อย ด้วยแนวความคิดที่ เด่นในเรื่องของ ช่องมองภาพที่ดี รูปลักษณ์กล้องที่ "หล่อ" เร้าใจ แค่ถือ คนใช้ก็ "หล่อ" ตามกล้องไปด้วยแล้ว ด้วยเหตุที่ ทาง Olympus จึงออกกล้องในตระกูล OM-D ตัวที่สอง ออกมาแล้ว ในชื่อเต็มๆว่า OM-D E-M1
โดยรวม ก็ต้องถือว่า ยังคง concept เดิมไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะจุดเด่น สองเรื่องหลักๆ ของกล้องในตระกูล OM-D ที่มีมาตั้งแต่ OM-D E-M5 อย่าง ระบบกันสั่น 5 ทิศทาง และ ช่องมองภาพ EVF อัจฉริยะ ที่ให้ความสมจริงของภาพได้เป็นอย่างดี ประกอบกับระบบ User Interface ในช่องมองภาพ ที่ใช้งานได้เลิศหรูอังการมากๆ โดยเฉพาะการปรับ curve ให้กับภาพที่กำลังจะถ่ายได้ แบบ สดๆ ณ ขณะที่กำลังจะถ่าย หรือปรับสี ปรับโทนภาพได้ดังใจ ขณะที่กำลังจะถ่ายเลยทีเดียว เรียกว่าลืม โปรแกรมตกแต่งภาพไปได้เลย ถ้าใช้กล้อง OM-D ทั้ง EM5 และ EM1 ตัวใหม่นี้
แน่นอนครับ สิ่งที่สะดุดตามากที่สุดของกล้อง OM-D ก็น่าจะเป็นที่ รูปลักษณ์ที่ดู Classic มากๆ คงสายพันธุ์ DNA ของตระกูล OM มาสุดๆจริงๆ เรียกได้ว่า ได้ใจคอ retro ไปแบบ แทบไม่ต้องดู spec อื่นๆอีกเลย แต่เมื่อมาพิจารณาถึง คุณสมบัติ ลูกเล่น และ ประสิทธิภาพ ของกล้อง OM-D แล้วจะยิ่งชื่นชอบมันมากยิ่งขึ้น
นวัตกรรมที่สำคัญของ OM-D ในสายตาของผม ที่ให้คะแนนเต็ม 100 มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ
1. ระบบกันสั่น 5 ทิศทาง ที่เรียกได้ว่าปฏิวัติระบบกันสั่นของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะ คุณลองนึกดูสิว่า เวลาถือกล้องอยู่ มันจะมีอาการสั่นแบบใดได้บ้าง เท่าที่นึกออก รับรองว่าระบบกันสั่นแบบ 5 ทิศทาง นี้ จัดการให้คุณได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ก้ม-เงย, ส่ายซ้าย-ส่ายขวา, เลื่อนขึ้น-ลง, เลื่อนซ้าย-ขวา และ หมุนตามเข็ม-ทวนเข็ม เรียกได้ว่า ครบถ้วนกระบวนความ คุณแทบจะเดินไป ถ่ายรูปไปได้เลย และจะว่าไปแล้ว เขาทำระบบกันสั่นนี้มาเพื่อการใช้งานแบบนี้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการถ่ายภาพวิดีโอ ในระหว่างเดิน ที่เมื่อก่อนจะมีปัญหามาก ว่ากล้องจะสั่นตลอดเวลา ปัญหานี้แทบจะหมดไปเมื่อใช้ระบบกันสั่นแบบ 5 ทิศทาง นี้
2. ระบบช่องมองภาพ EVF ที่ฉลาดและ Real Time
จอ EVF ใน OM-D E-M1 เป็นรุ่นปรับปรุงเพิ่มเติมจาก OM-D E-M5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของจำนวนพิกเซลที่เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 2.36 ล้านจุด (จาก 1.44 ล้านจุดใน OM-D E-M5) เพราะหัวใจสำคัญของกล้องแบบที่มี EVF นี้ก็คือ ต้องมีช่องมองภาพ EVF ต้องมีประสิทธิภาพดี ที่จะใช้งานทดแทนช่องมองภาพของกล้องแบบ DSLR ทั่วไปได้ หรือต้องมีสิ่งที่ดีกว่าจริงๆ จึงจะทำให้คนที่เคยใช้งานกล้อง DSLR ที่คุ้นเคยกับการมองผ่านช่องมองภาพ ยินยอมที่จะหันมาใช้งานกล้องแบบ ช่องมองภาพอิเลคโทรนิคส์ EVF นี้ สิ่งที่ช่องมองภาพ EVF ของกล้อง OM-D ทำให้คุณได้ ดีกว่า optical viewfinder ของกล้อง DSLR ก็มีหลักๆอยู่ 4 อย่าง ดังนี้
2.1 ปรับการควบคุมส่วนสว่าง (Highlight) กับส่วนเงามืด (Shadow) ได้ ผ่านการปรับเส้นกราฟ (Curve) คล้ายๆกับในโปรแกรมตกแต่งภาพ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถ ควบคุมส่วนเงามืดและส่วนสว่างของภาพ ได้ตามที่ต้องการมากขึ้น และที่สำคัญ เราสามารถมองเห็นผลลัพธ์ที่ได้ ในช่องมองภาพได้ทันที แม้ว่ายังไม่ได้ถ่ายภาพก็ตาม
2.2 การควบคุมระบบไวท์บาลานซ์ (White Balance) เราสามารถเห็นผลของการปรับ WB แบบต่างๆได้ จากตัวช่องมองภาพได้เลย ใครที่ชอบสร้างสรรค์สีสันแปลกๆในภาพ ผ่านทางการปรับ WB น่าจะชอบคุณสมบัติข้อนี้ เพราะถ้าเป็นกล้อง DSLR ทั่วไปท่านไม่สามารถเห็น effect จากการปรับ WB ได้ในช่องมองภาพแบบปกติได้
2.3 เราสามารถดูภาพแบบซูมเข้าไปเยอะๆได้ เพื่อช่วยในการโฟกัสที่แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะท่านที่ใช้งานเลนส์แบบแมนนวลโฟกัส หรือที่มักเรียกกันว่าเลนส์มือหมุน คงจะทราบดีกว่า การที่จะหมุนโฟกัสให้เข้าที่แม่นยำ ในกล้องปกตินั้น ทำได้ยากมาก แต่การที่ช่องมองภาพ EVF ของกล้อง OM-D สามารถที่จะซูมภาพเข้าไปดูวัตถุที่ต้องการได้ใกล้ๆ ได้ที่ 5x, 7x, 10x และ 14x เพื่อขยายวัตถุที่ต้องการ ให้ดูใหญ่ขึ้นในช่องมองภาพ เพื่อการโฟกัสภาพได้ จึงช่วยให้โฟกัสแม่นยำแม้จะใช้เลนส์แมนนวลโฟกัสก็ตาม
2.4 เราสามารถเห็นอัตราส่วนภาพ ที่กำลังจะถ่ายได้แบบ 100% ไม่มีส่วนใดตกหล่น อยู่นอกสายตาของเราแม้แต่น้อย หรือ กังวลว่าภาพที่ถ่าย กับภาพที่เห็นในช่องมองภาพ ไม่เท่ากันอีกต่อไป เพราะสิ่งที่เราเห็น กับสิ่งที่คุณถ่าย คือสิ่งเดียวกัน 100% ไม่ว่าเราจะปรับอัตราส่วนภาพไว้แบบ 4:3, 3:2, 1:1 หรือ 16:9 ก็เห็นสิ่งที่กำลังจะถ่ายได้ทันทีในช่องมองภาพ
ปุ่มควบคุม ที่ใช้ง่าย แต่ปรับได้เยอะแบบ "ยกกำลังสอง" เอาใจคนชอบปรับ โน่น นี่ นั่น
สำหรับการวางปุ่มอื่นๆ OM-D E-M1 ทำได้ดีมากๆ ในเรื่องนี้ และที่สำคัญ มีปุ่มยิบย่อย ให้เราใช้งานได้ครบถ้วนดีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มควบคุมหลัก 2 ปุ่ม หน้าหลัง ที่สามารถใช้งานได้ เลือกค่าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนปุ่ม ฟังก์ชั่นต่างๆ ทั้ง Fn1 (ตรงนิ้วโป้งขวา) และ Fn2 (ตรงนิ้วชี้ขวา) แถมยังมีปุ่มปรับรูปการใช้งาน ปุ่มต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ให้เลือกอีก 2 รูปแบบอีกต่างหาก (ก้านโยก ด้านหลังกล้อง อยู่ตรงนิ้วโป้งขวา ที่มีเลข 1 กับ เลข 2 ปรากฏอยู่) เรียกว่า ปรับได้ทุกอย่าง "ยกกำลังสอง" จริงๆ แม้ว่าในระยะแรกๆ อาจจะต้องทำความคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะที่ตัวปุ่มจะไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ บอกไว้ว่า ปุ่มไหน ปรับค่าอะไร บอกแค่ว่า 1 หรือ 2 หรือ Fn1 หรือ Fn2 เพราะเราสามารถเข้าไปเลือกได้เองเลยว่า อยากให้ปุ่มไหน ทำหน้าทีอะไร เรียกว่า custom ได้ตามใจ คุณต้องทดสอบ ทดลองเอง ทำความคุ้นเคยสักพัก ก็จะเข้าใจได้ว่า ปุ่มไหน ไว้ปรับค่าอะไร หรือถ้าแบบปกติที่กล้องเลือกให้เราไว้ เราไม่พอใจ ก็เข้าไปปรับตั้งให้เป็นตามที่เราต้องการได้เลยครับ อาจจะต้องอ่านคู่มือ เล็กน้อย เพื่อตั้งค่าปุ่มต่างๆ ให้ได้ตรง ตามการใช้งานของเรา ผมใช้เวลาคล่ำๆ ลองหมุนๆ อยู่สัก 5 นาที ก็พอจะจำได้แล้ว ว่าปุ่มไหน ทำอะไร พอไปถ่ายจริงๆ หลังจากที่เราคุ้นเคยแล้ว ก็บอกได้เลยว่า กล้องตัวนี้ สุดยอดจริงๆ ในเรื่องของการควบคุม ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทันท่วงที สำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ เพราะการที่มีปุ่ม ให้เราใช้งานได้อย่างมากมายนั่นเอง
ปุ่มควบคุม Drive และ HDR ที่ใช้งานได้ง่ายมากๆ
สิ่งที่ประทับใจ โดยส่วนตัวอีกอย่าง ของ OM-D E-M1 ที่บางท่านอาจจะเฉยๆ แต่สำหรับผม ผมว่ามีประโยชน์มากๆ คือ การมีปุ่มให้เลือก Drive ในการถ่าย รวมถึงระบบ HDR เป็นปุ่มเฉพาะให้เลย ตรงนี้ ทำให้การปรับสลับไปมา ระหว่างการถ่ายภาพตามปกติ กับการถ่ายภาพในแบบ HDR ทำได้ง่ายมากๆ เวลาถ่ายภาพตามปกติ ผมก็จะปิดระบบ HDR นี้ไว้ก่อน จนถึงในสถานการณ์ที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ HDR ก็สามารถเข้าถึงคุณสมบัตินี้ได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปงม หาในเมนูยิบย่อยแต่อย่างใด เพียงกดปุ่มนี้เท่านั้น และที่สำคัญ พอเราปรับเป็น HDR ปุ๊บ กล้องจะทำการปรับค่าการถ่ายภาพต่อเนื่องให้เราโดยอัตโนมัติ เป็น High Speed Continuous (ในกล้อง OM-D E-M1 จะใช้คำว่า Sequential แทน Continuous ซึ่งมีอยู่สองความเร็วคือ H กับ L หรือ High คือ ถ่ายรัวเร็วๆ กับ Low คือ ถ่ายรัวไม่เร็ว) ทุกครั้งที่ผมปรับเป็น HDR กล้องจะปรับเป็น Sequential : H หรือ ถ่ายรัวแบบเร็วๆ ให้ด้วย ซึ่งจำเป็นมาก สำหรับการถ่ายภาพ HDR ที่ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง กล้องจะถ่ายภาพรัวเร็วๆติดๆ กับ 3-4 ภาพ ที่สภาพแสงต่างๆกัน ก่อนที่จะนำภาพทั้งหมด มารวมเป็นภาพ HDR ภาพเดียว ให้กับเรา ผมหลงรัก OM-D E-M1 มากที่สุดเรื่องนึก ก็คือ ปุ่ม HDR ปุ่มนี้แหละครับ เพราะผมชอบถ่ายย้อนแสงบ่อยๆ ซึ่งถ้ามี HDR ที่ใช้งานแบบนี้ ก็ทำให้เราสนุกกับการถ่ายภาพได้มากยิ่งขึ้น
...
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/320 sec. F 11
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/30 sec. F 22
จอภาพทัชสกรีน
จอภาพด้านหลัง ถ้าเป็นกล้องรุ่นอื่นๆ ก็คงไว้ดูภาพ กับแสดงผลข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่จอแบบสัมผัสของ OM-D ช่วยให้การใช้งาน สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้นมากๆ หลายคนที่เคยใช้งานกล้องที่ ต้องกดปุ่ม menu ก่อน จากนั้นก็ค่อยๆเลื่อนไปหาสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งอาจจะซ่อนอยู่ใน menu ซ้อน menu ย่อย หลายๆครั้งกว่าจะเจอสิ่งที่ต้องการ ก็คงจะเบื่อ หรืออาจจะไม่ทันการณ์กับสิ่งที่อยากจะถ่ายภาพ แต่การที่เราแตะไปยัง สิ่งที่เราต้องการได้ทันที บนตัวหนังสือ หรือสัญลักษณ์บนหน้าจอ ย่อมทำได้ดี และเร็วกว่ามาก จากที่ลองใช้งานมา ผมว่านี่คือ นวัตกรรมที่สำคัญ และใช้งานได้จริง รวมทั้งเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งกับตากล้องมือใหม่ และตากล้องมือเก่า นั่นคือ ความรวดเร็วในการปรับตั้งค่าต่างๆ ผ่านทางจอแบบสัมผัสของ OM-D นี้ ทำได้เร็วกว่ากล้องปกติมากๆ
ในด้านของคุณภาพของภาพที่ได้
ต้องบอกเลยว่า ดีกว่าความคาดหมายมาก ผมลองถ่ายภาพที่ ISO 1250 ในสถานที่ซึ่งค่อนข้างมืด มีส่วนที่เป็นเงาดำ สิ่งที่ได้กลับแทบไม่พบ noise เลย ทั้งในส่วนสว่าง และส่วนเงาดำ และยังสามารถคง รายละเอียดของสิ่งต่างๆไว้ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะระบบลด noise บางอย่าง คุณอาจต้องเสียรายละเอียดของวัตถุในภาพไปบ้าง แต่สำหรับ OM-D เรียกได้ว่าใช้งานในสถานที่แสงน้อยๆได้อย่างสบายใจ แสดงว่า Live MOS และ หน่วยประมวลผลตัวใหม่ TruePic VII ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
หมายเหตุ :การทดสอบนี้ เน้นให้ทุกๆคน ศึกษาดูจากภาพเองเลยดีที่สุด (คลิ๊กที่ภาพ เพื่อโหลดภาพใหญ่ แต่ละภาพตกราวๆ 10 MB.) เป็นภาพ jpeg ที่ได้จากกล้องโดยตรง ไม่ได้ใส่แม้แต่ใส่ลายน้ำ หรือย่อภาพอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น รบกวนใช้เพื่ออ้างอิง เพื่อดูคุณสมบัติของกล้องเท่านั้น อย่านำภาพไปใช้อย่างอื่นนะครับ
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 1250 : 1/25 sec. F 2.8
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO
ISO 200 : 1/125 sec. F 22
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 1250 : 1/60 sec. F 4
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/100 sec. F 22
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/125 sec. F 11
© Copyright : 2013. taKLONG.com

Olympus OM-D E-M1 :
เลนส์ M.Zuiko ED 12-40 mm. F2.8 PRO :
ISO 200 : 1/160 sec. F 22

ระบบโฟกัส Dual Fast AF
นอกจากนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา เฉพาะสำหรับ OM-D E-M1 ก็คือ ระบบโฟกัสภาพแบบ Dual Fast AF ที่อาศัย ประสิทธิภาพการโฟกัส ในระบบ Phase Detection มาช่วยในการโฟกัสภาพ เสริมเพิ่มเติม จากเดิมที่ใช้เพียง Contrast Detection เท่านั้น (ใน OM-D E-M5) จึงทำให้ประสิทธิภาพการโฟกัสภาพ ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำมากขึ้นมาก จากที่ผมลองใช้งานดู ก็ยืนยันได้เลยว่า เวลาใช้งานจริงๆ กล้อง OM-D E-M1 นั้นให้ความเร็วในการโฟกัสภาพ ไม่แตกต่างจากกล้องในแบบ DSLR เลย (กล้อง DSLR ส่วนใหญ่ใช้ระบบโฟกัสแบบ Phase Detection เป็นหลัก ซึ่งรวดเร็วมาก) การใช้งานในสถานการณ์จริง แทบไม่ต้องกังวลเรื่องการโฟกัสวัตถุ อะไรก็ตามที่ผ่าน แว๊บๆ เข้ามาในภาพ ก็โฟกัสได้ทันท่วงที เพราะการโฟกัสภาพ เป็นหัวใจสำคัญของการถ่ายภาพ ให้ได้ภาพที่มีคุณภาพที่ดี เพราะต่อให้ภาพวางองค์ประกอบ อย่างอื่น การถ่ายอย่างอื่น ดีหมด แต่โฟกัสไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ
ระบบกันน้ำ กันฝุ่น
อันนี้เป็นจุดขายที่สำคัญของกล้องค่ายนี้มานานพอสมควร คือการออกแบบกล้องให้กันน้ำได้ อย่างใช้งานได้จริง กันน้ำได้จริงๆ ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง ในวันที่ผมทดสอบกล้องนี้ ได้ไปถ่ายในเรือด่วน นั่งบริเวณส่วนหัวเรือ วันนั้นลมแรง และเรือก็วิ่งเร็วพอสมควร มีน้ำกระเด็นเข้ามาโดนกล้องตลอดเวลา ถ้าเป็นกล้องตัวอื่น อาจจะหลบๆ ไม่ค่อยกล้าถ่ายภาพนัก แต่สำหรับ Olympus OM-D E-M1 ตัวนี้ ถ่ายไป จนตัวกล้องเปียกโชกไปด้วยละอองน้ำทั้งหมด ก็ไม่มีปัญหา และก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเขายืนยันแล้วว่ากันละอองน้ำพวกนี้ได้สบายๆ ผมก็ถ่ายภาพต่อไปได้อย่างสบายๆด้วยเช่นกัน ไม่ต้องห่วงว่ากล้องจะพังเพราะละอองน้ำพวกนี้อีกต่อไป และแน่นอนว่า ขนาดละอองน้ำ ยังกันได้ สำหรับละอองฝุ่นในอากาศ ก็สามารถป้องกันได้แบบ สบายๆ ด้วยเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว กล้อง Olympus OM-D E-M1 เป็นกล้องที่ถ่ายภาพได้สนุก สมบุกสมบัน กันน้ำกันฝุ่น การจับถือ มีกริปที่ใหญ่จับได้ถนัดมือขึ้นกว่า OM-D E-M5 การใช้งาน ก็ให้ความรู้สึก ไม่แตกต่างจากกล้อง DSLR แต่อย่างใด การตอบสนองของกล้อง เรื่องการโฟกัส ก็ทำได้ดีมาก ปุ่มควบคุมที่เยอะยกกำลังสอง แต่พอคุ้นเคยแล้ว จะช่วยให้การถ่ายภาพของคุณ คล่องตัวมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบปรับโน่นนี่นั้น อยู่ตลอดเวลา หรือบรรดามืออาชีพทั้งหลาย ก็มีสิ่งที่ต้องการอยู่ครบครัน ความแข็งแรงก็ใช้ได้ ช่องมองภาพที่ให้รายละเอียดได้ดีเลิศ จึงสามารถนำมาใช้งาน ทดแทนกล้อง DSLR ได้อย่างจริงจัง ลบคำปรามาศกล้องแบบ Mirrorless ที่หลายๆ คนอาจจะบอกว่า ไม่เหมาะกับมืออาชีพ ผมว่าลอง มาใช้ ลองมาจับตัวเป็นๆ ของ OM-D E-M1 เสียก่อน ค่อยว่ากัน มีเรื่องเดียวที่จะต่างกับการใช้งาน DSLR อยู่บ้าง นั่นก็คือ "คุณต้องเปิดกล้องก่อน" จึงจะมองในช่องมองภาพได้ สำหรับใครที่ใช้กล้อง DSLR จนชิน และชอบยกกล้องมาส่องโน้น ส่องนี่ โดยที่ไม่ได้ถ่ายรูป อาจจะทำแบบนั้นไม่ได้ กับกล้องระบบ EVF แบบตัวนี้ แต่นั่นไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ถ้าเทียบกับ คุณภาพ ความคล่องตัว ขนาดที่กะทัดรัด เลนส์คุณภาพสูง ที่มีให้เลือกมากมาย ฯลฯ ผมว่า คุณมองข้ามกล้อง Mirrorless ระดับโปร ตัวนี้ไปไม่ได้เลย
^ ^
นายตากล้อง
Webmaster
taKLONG.com
15/12/2013
แสดงความเห็น ด้วย Facebook Account ของคุณ ได้ตรงนี้
© Copyright : 2015. taKLONG.com
|